ศาลเจ้าปู่ย่า

 

   เมื่อถึงเทศกาลสำคัญๆของพี่น้องชาวจีนในจังหวัดอุดรธานี การกราบไหว้สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในจังหวัดอุดรธานีจะเป็นเรื่องปกติ จนกลายเป็นประเพณีประจำที่รู้จักกันโดยทั่วไปของหมู่พี่น้องชาวจีนในจังหวัดอุดรธานี โดยสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นศูนย์กลางในการยึดเหนี่ยวจิตใจก็คือ “ศาลเจ้าปู่ย่า” จังหวัดอุดรธานีนั่นเอง 


ประตูทางเข้าศาลเจ้าปู่ย่าอุดรธานี สร้างขึ้นในสมัยคณะกรรมการรุ่นที่ 39

       วันนี้ทีมงาน UDclick.com จะพาไปกราบไหว้ และเที่ยวชมความสวยงามของ “ศาลเจ้าปู่ย่า” อุดรธานี กันนะครับ ภายในบริเวณศาลเจ้าปู่ย่า จะประกอบด้วยสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหมด 6 สิ่ง เวลาท่านไปกราบไหว้ต้องจุดธูปทั้งหมด 30 ดอกนะครับ ถ้าเป็นไปได้ ก็เตรียมน้ำมันพืชไปสำหรับเติมในตะเกียง ตามความเชื่อที่ว่าเพื่อความสว่างไสวกับชีวิต ถ้าท่านไม่มีเวลาตระเตรีนมไป ท่านสามารถไปบูชาได้ที่ศาลเจ้าเลยนะครับ ทางคณะกรรมการศาลเจ้าจะมีเตรียมไว้อยู่ตลอดเวลา

เคล็ดลับการกราบไหว้ขอพร
       นอกจากการกราบไหว้ด้วยธูป 30 ดอกแล้ว การกราบไหว้ศาลเจ้าปู่-ย่า ต้องถวายส้ม 4 ลูก พอกราบไหว้ครบทั้ง 6 จุดแล้ว ให้เดินไปที่สะพานเก้าเลี้ยว เชื่อกันว่าเป็นจุดเชื่อมต่อสวรรค์ และรับรู้ว่าขอพรอะไรไป เสร็จแล้วให้มากราบลาศาลปู่-ย่า พร้อมเอาส้มกลับมา 2 ลูก 

       สิ่งศักดิ์สิทธิ์แห่งแรกได้แก่ “ทีตีแป่บ้อ” เรียกสั้นๆว่า “ทีกง” หรือ ชื่อในภาษาไทย คือ “ศาลเทพยดาฟ้าดิน” ซึ่งเป็นการกราบไหว้สักการะสวรรค์ หรือเหล่าเทพยดาที่อยู่บนสรวงสวรรค์นั่นเอง(ตามวัดจีน หรือ ศาลเจ้าจีน จะมี “ทีตีแป่บ้อ” อยู่เสมอทุกที่)เสาทีกง จะจัดสร้างขึ้นในกรรมการสมัยที่ 51(พ.ศ.2544) โดยมีความสูง 14.4 เมตร


ศาลสำหรับสักการะ”ทีตี่แป่บ้อ”


ด้านหน้าของศาล”ทีตี่แป่บ้อ”


ทีตี่แป่บ้อ

ประวัติความเป็นมาของ “ทีตี่แป่บ้อ”

       ตำนานเกี่ยวกับ (ทีกง) ทีตี่แป่บ้อ หรือ การบวงสรวงเทพยดาฟ้าดินนี้  เกี่ยวข้องกับความเชื่อในศาสนาพุทธ  และพราหมณ์  มายาวนานเป็นพันปีแล้ว  จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของจีน  ผู้ที่ริเริ่มการบวงสรวงเทพยดาฟ้าดิน  หรือ (ทีกง)  ทีตี่แป่บ้อ  เป็นคนแรกคือ  “หย่งเล่อ”  จักรพรรดิแห่งราชวงศ์หมิง  ในปี ค.ศ. 1420 

       โดยจักรพรรดิหย่งเล่อ  ได้เล็งเห็นความสำคัญของการบวงสรวงเทพยดาฟ้าดิน  ในคราวที่บ้านเมืองไม่สงบสุข  ข้าวยากหมากแพง  หรือเกิดภัยพิบัติต่าง ๆ  ก็ทรงหาวิธีแก้ไขทุกข์ภัย  ด้วยอุบายพิธีต่างๆ จึงได้สร้างหอเทียนถาน “ ฉีเหนียนเตี้ยน”  เพื่อใช้ในการประกอบพิธีกรรมบวงสรวงเทพยดาฟ้าดิน  เพื่อให้พืชพันธุ์ธัญญาหารอุดมสมบูรณ์  เพื่อบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์  แสดงความกตัญญูกตเวทีต่อดวงวิญญาณของบรรพบุรุษ  ปัดเป่าทุกข์ภัยพิบัติต่างๆ และขออภัยไถ่บาปของประชาชน 

       โดยเชื่อว่า  ฮ่องเต้ คือ โอรสของสวรรค์  เป็นผู้ประกอบพิธีกรรม ส่วนคนไทยเรา ก็ให้ความสำคัญกับการบวงสรวงเทพยดาฟ้าดิน  มายาวนานแล้วเช่นเดียวกัน  โดยในสังคมกสิกรรมทุกสังคม  ก็มีพิธีกรรมต่าง ๆ  เพื่อบวงสรวงบูชาเทพยดาฟ้าดิน  เกี่ยวกับพืชพันธุ์ธัญญาหาร  ขอฟ้าขอฝน  หรือการบูชาเทพต่าง ๆ  ที่เกี่ยวกับดิน  น้ำ  ลม  ไฟ  เช่นการบูชาพระแม่ธรณี  พระแม่โพสพ  และพระแม่คงคา  ซึ่งก็ล้วนแล้วแต่เป็นการบูชาเทพยดาฟ้าดินทั้งสิ้น 

       เนื่องจากคนไทยเรา  มีความเกี่ยวข้องกับสังคมกสิกรรม  และพืชผลต่าง ๆ มาตั้งแต่สมัยพุทธกาลแล้ว  ดังมีตอนหนึ่งที่พระเจ้าสุทโธทนะ  พระบิดาของเจ้าชายสิทธัตถะ (ก่อนตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า)  ทรงจัดให้มีพระราชพิธีพระนังคัลแรกนาขวัญ  และวันนั้นเองที่เจ้าชายสิทธัตถะเป็นสมาธิขั้นแรกที่เรียกว่า  “ปฐมฌาน”

ลักษณะความเชื่อ

       สำหรับการบูชา (ทีกง) ทีตี่แป่บ้อ หรือเทพยดาฟ้าดินนั้น ชาวจีนมีความเชื่อถือว่า เป็นสิ่งที่อยู่คู่กับโลกมนุษย์มาก่อนสิ่งอื่น สิ่งใด และมีความเชื่อเรื่องชีวิตหลังความตาย เชื่อว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และดวงวิญญาณของบรรพบุรุษจะไปสถิตอยู่เบื้องบนสวรรค์ เมื่อสักการบูชาแล้ว จะดลบัลดาลความร่มเย็นเป็นสุข บันดาลความอุดมสมบูรณ์

       การสักการบูชา(ทีกง) ทีตี่แป่บ้อ ถือเป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อดวงวิญญาณของบรรพบุรุษด้วย บ้างก็มีความเชื่อว่าในเวลาที่เราอยู่นอกเคหสถาน (ทีกง) ทีตี่แป่บ้อ หรือเทพยดาฟ้าดินนี้เป็นผู้ปกป้องคุ้มครองให้ปลอดภัยจากภัยพิบัติทั้งหลาย ทั้งปวงให้กับผู้ที่บูชา

       สำหรับคนไทยก็มีความเชื่อในเรื่องของบวงสรวงเทพยดาฟ้าดิน เนื่องจากเป็นสังคมกสิกรรมเกี่ยวข้องกับดิน ฟ้า อากาศ จึงมีความเชื่อกันว่า การบวงสรวงเทพยดาฟ้าดิน การสักการบูชาเทพต่างๆ ที่เกี่ยวกับดิน น้ำ ลม ไฟ จะสามารถบันดาลความอุดมสมบูรณ์ของพืชพันธุ์ธัญญาหาร และความร่มเย็นเป็นสุข ซึ่งก็เป็นแนวคิดทางพุทธศาสนาที่สอดคล้องกัน

(ที่มา:เว็บไซต์ วัดพนัญเชิงดอทคอม)

 

ใส่ความเห็น