วัดป่าภูก้อน

พุทธอุทยานมหารุกขปาริชาติภูก้อน(วัดป่าภูก้อน) พิมพ์ อีเมล์

 

           วันนี้มีโอกาสได้มาทำบุญ ไก่แจ้จึงอยากเลือกที่จะทำบุญที่ไกลๆแต่ยังอยู่ในตัวจังหวัดอุดรธานี วัดที่ไก่แจ้เลือกนี้อยู่ไม่ไฃใกล้และไม่ไกล เดินทางจากตัวเมืองมาถึงที่นี้ใช้เวลาไม่ถึงชั่วโมง วัดนี้หลายๆท่านอาจจะรู้จักกันเป็นอย่างดี แต่ก็มีอีกหลายท่านที่ไม่รู้จัก เพื่อไม่เป็นการเสียเวลา ไก่แจ้ว่าเรามาทำความรู้จักกับสถานที่แห่งนี้กันเลยค่ะ วัดนี้คือ พุทธอุทยานมหารุกขปาริชาติภูก้อน หรือวัดป่าภูก้อน วัดนี้ตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่านายูงและป่าน้ำโสม บ้านนาคำ ตำบลบ้านก้อง อำเภอนายูง จังหวัดอุดรธานี

       

                 

 

     บรรยากาศภายในวัดดูสงบ ร่มลื่น เหมาะแก่การมานั่งวิปัสสนา หรือมาพักผ่อนทางใจเพื่อหลีกหนีความวุ่นวายในตัวเมือง  ไก่แจ้มาถึงที่นี้แล้วรู้สึกสบายใจและอิ่มเอมกับการได้ทำบุญ ตอนแรกกะว่าจะมาแค่ชั่วโมงสองชั่วโมง แต่เมื่อมาถึงที่นี้ เห็นบรรยากาศแล้วไก่แจ้ก็อดที่จะแชะภาพภายในวัดมาฝากแฟนๆ UDClick.com ไม่ได้ นอกจากภาพสวยๆแล้ว ไก่แจ้ยังได้ทำการค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมของวัดนี้มาฝากกันให้เต็มอิ่มกันไปเลย

 

                

         วัดป่าภูก้อน ตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่านายูงและป่าน้ำโสม ท้องที่บ้านนาคำ ตำบลบ้านก้อง อำเภอนายูง จังหวัดอุดรธานี อันเป็นรอยต่อแผ่นดิน 3 จังหวัด คือ อุดรธานี เลย และหนองคาย กำเนิดขึ้นจากการดำริชอบของพุทธบริษัทสี่ ผู้ตระหนักถึงคุณประโยชน์อันยิ่งใหญ่ของธรรมชาติและป่าต้นน้ำลำธาร ซึ่งกำลังถูกทำลาย  

                   

         โดยในปี พ.ศ. 2527 พระเดชพระคุณหลวงปู่ฝั้น อาจาโร ได้เมตตาปรากฏในทิพยนิมิต สั่งให้ไปธุดงค์ทางภาคอีสานเป็นเวลา 10 วัน คุณปิยวรรณและคุณโอฬาร วีรวรรณ พร้อมคณะได้เดินทางมาธุดงค์แถบจังหวัดสกลนครและอุดรธานี เกิดความเลื่อมใสในปฏิปทาของพระป่า จึงได้เข้าช่วยเหลือท่านพระอาจารย์อินทร์ถวาย สันตุสสโก สำนักสงฆ์บ้านนาคำน้อย ในการขออนุญาตใช้พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติจัดตั้งเป็นวัดป่านาคำน้อย และปลูกป่าทดแทนฟื้นฟูสภาพป่าเสื่อมโทรมกว่า 750 ไร่ อย่างถูกต้องตามระเบียบของกรมป่าไม้ เพื่อใช้ประโยชน์ในการปฏิบัติธรรมและอยู่อาศัยของพระสงฆ์ จากนั้นท่านพระอาจารย์อินทร์ถวายได้พาไปดูป่าภูก้อนที่กำลังถูกสัมปทานตีตราตัดไม้ คณะศรัทธาจึงได้ตัดสินใจสร้างวัด โดยกราบอาราธนาท่านพระอาจารย์ชาลี ถิรธัมโม (ปัจจุบันเป็นพระครูจิตตภาวนาญาณ) เป็นประธานและขวัญกำลังใจในการก่อสร้าง และได้ทำเรื่องขอใช้ที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาตินายูง-น้ำโสม เพื่อสร้างวัดในเนื้อที่ 15 ไร่ จากกรมป่าไม้ จนได้รับอนุญาตเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2530 ต่อมาได้ดำเนินการตามขั้นตอนของกรมการศาสนา จนได้รับอนุญาตให้สร้างวัดในวันที่ 3 กรกฎาคม 2530 และมีประกาศกระทรวงศึกษาธิการตั้งเป็น ‘วัดป่าภูก้อน’ ขึ้นในพระพุทธศาสนาเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2530  

                  

         เพื่อรักษาบริเวณวัดให้คงสภาพป่าอย่างสมบูรณ์ คณะศรัทธาจึงพยายามอย่างหนักที่จะขออนุญาตใช้พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติที่อยู่โดยรอบวัดด้วย ด้วยความเมตตากรุณาเป็นที่สุดของผู้ใหญ่ผู้มีพระคุณหลายท่านในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และกระทรวงมหาดไทย อันได้แก่ ท่านปลัดเถลิง ธำรงนาวาสวัสดิ์ ท่านปลัดจุลนภ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ท่านปลัดอนันต์ อนันตกูล ท่านอธิบดีจำนงค์ โพธิเสโร ที่เห็นคุณค่าของป่าและความตั้งใจจริงของคณะศรัทธาที่จะรักษาป่า จึงได้สนับสนุนช่วยเหลือจนเป็นผลสำเร็จ จนในที่สุดในวันที่ 22 มิถุนายน 2531 ได้รับหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในเขตป่าสงวนแห่งชาติเพื่อจัดตั้งพุทธอุทยานมีเนื้อที่ 1,000 ไร่ และได้รับขนานนามว่า ‘พุทธอุทยานมหารุกขปาริชาติภูก้อน’ ภายหลังยังได้รับความสนับสนุนจากอธิบดีกรมป่าไม้ อธิบดีกรมชลประทาน ท่านต่อๆ มา ตลอดจนท่านผู้ใหญ่ในกรมตำรวจ กองทัพบก กองทัพอากาศ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค องค์การโทรศัพท์ อีกหลายท่าน 

                

         วัดป่าภูก้อนได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา ในวันที่ 7 มิถุนายน 2532 คณะศรัทธาจึงได้พร้อมใจกันจัดงานฝังลูกนิมิต โดยได้รับเกียรติจากท่านจุลนภ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ปลัดกระทรวงเกษตรและ สหกรณ์ในขณะนั้น เป็นประธานในพิธีตัดลูกนิมิตและผูกพัทธสีมา ณ วัดป่าภูก้อน เมื่อวันที่ 13-14 มกราคม 2533 และรวบรวมปัจจัยในงานจัดตั้งมูลนิธิ ‘ปิยธรรมมูลนิธิ’ ขึ้น เพื่อเกื้อกูลพระภิกษุสามเณรในวัดและงานสาธารณประโยชน์ต่างๆ ในท้องถิ่น

                   

         พุทธอุทยานแห่งนี้ยังเคยเป็นสถานที่ธุดงควัตรของพระนวกะ จากโรงเรียนนายร้อยทั้ง 4 เหล่าทัพ ซึ่งอุปสมบทในภาคฤดูร้อน โดยสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก โปรดเกล้าฯ บรรพชาที่วัดบวรนิเวศฯ แล้วประทานอนุญาตให้มาอบรมกรรมฐานที่วัดป่าภูก้อน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2534 เป็นเวลา 5 ปี ติดต่อกันมา 

      

      ปัจจุบันนี้วัดมีศาลาอุโบสถ 2 ชั้น 1 หลัง ซึ่งเป็นที่ประกอบพิธีสงฆ์ชั้นบนและเป็นที่ฉันชั้นล่าง มีกุฏิพระ 45 หลัง เรือนครัว 1 หลัง เรือนพักฆราวาส 6 หลังถังเก็บน้ำคอนกรีต 20 ถัง และห้องน้ำจำนวนมาก โดยใช้ระบบประปาภูเขา จากฝายเก็บน้ำดินขนาดเล็กที่เป็นแหล่งต้นน้ำซับและน้ำตกในวัด ซึ่งต่อมากรมชลประทานได้บูรณะถวายให้แข็งแรงถาวรในปี 2538 และวัดยังได้ต่อระบบประปาไปถึงหมู่บ้านนาคำที่อยู่ห่างจากวัดไป 4 กม. เพื่อให้ชาวบ้านมีแหล่งน้ำใช้อย่างสะดวกและสะอาด

                

         ด้วยความสง่างามและความศักดิ์สิทธิ์ของอาณาเขตพุทธอุทยาน และป่าสงวนแห่งชาติบนเนื้อที่กว่า 3,000 ไร่ ที่กรมป่าไม้ได้ให้วัดป่าภูก้อนช่วยดูแลงานด้านป่าไม้ (เพิ่มขึ้นจากพื้นที่พุทธอุทยานเดิมอีก 2,000 ไร่) เพื่อรักษาป้องกันไฟป่าและการบุกรุกทำลายป่าล่าสัตว์ วัดป่าภูก้อนจึงเป็นที่สงบสัปปายะ วิเวกควรแก่การบำเพ็ญภาวนารักษากายวาจาและจิตใจในกรรมฐานเป็นที่สุด ดังมีผู้ได้พบเห็นหลักฐานความอัศจรรย์ของธรรมชาติแห่งนี้อยู่เสมอ คณะศรัทธา จึงร่วมกันดำริสร้างพระมหาเจดีย์ นามว่า “พระปฐมรัตนบูรพาจารย์มหาเจดีย์” โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญคือ อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุขึ้นประดิษฐานในสถานที่อันสมควรเพื่อสักการะบูชา และแสดงกตัญญูกตเวทิตาแด่คุณของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ และบุรพอาจารย์กรรมฐานในแถบอีสาน ทั้งยังเป็นมงคลสถานที่พุทธศาสนิกชน จะได้ตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของป่าไม้อันให้ประโยชน์ทั้งทางโลกและทางธรรม เป็นที่ปฏิบัติขัดเกลาจิตใจ และเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวอีสาน ซึ่งควรร่วมกันส่งเสริมรักษาอย่างจริงจังตลอดไป  

         

 

              องค์พระมหาเจดีย์แห่งนี้ เป็น 1 ใน “โครงการเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสพระราชพิธีมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2542” และได้อัญเชิญตราสัญลักษณ์ และพระรูปหล่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาประดิษฐานภายในองค์พระมหาเจดีย์ด้วย

 

                

            ในโอกาสนี้ท่านปลัดกระทรวงมหาดไทยได้กราบทูลอัญเชิญเสด็จ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นองค์ประธานประกอบพิธีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุในพระเกศ “พระร่วงรุ่งโรจน์ศรีบูรพา” พระประธานหน้าองค์พระมหาเจดีย์ ทรงลงพระนามาภิไธยและปลูกต้นสาละไว้ เมื่อวันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2544 และวัดป่าภูก้อนยังได้รับมอบประกาศนียบัตรจากกรมป่าไม้ เป็นวัดอนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรป่าไม้ดีเด่น ระดับจังหวัดประจำปี 2544 ประเภทดูแลรักษาป่าดั้งเดิม ตั้งแต่ 501 ไร่ขึ้นไป 

      

  ในปัจจุบันนี้ วัดป่าภูก้อนดำรงคงอยู่ด้วยความสมดุลของป่าไม้ที่ทวีความอุดมสมบูรณ์ขึ้นทุกคืนวัน โดยบุคคลผู้มีความศรัทธาและระลึกคุณของสรรพสิ่งทั้งหลายของชาติและแผ่นดินอันเป็นที่กำเนิดแห่งชีวิต โดยมีคุณพระพุทธศาสนาเป็นเครื่องสำนึก และมีพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์ที่ชาวไทยทุกคนควรทดแทน เป็นกำลังใจส่งเสริมพระสงฆ์ผู้ปฎิบัติดีปฎิบัติชอบให้ดำรงปฏิปทาของพระป่ากรรมฐานเพื่อบูชาคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ จนถึงที่สุด

 ประวัติองค์พระปฐมรัตนบูรพาจารย์มหาเจดีย์

 

 

ชั้นบนยอด บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ สูงสุดด้วยความเคารพเหนือเศียรเหนือเกล้า

ชั้นสอง อัญเชิญรูปหล่อเหมือนบูรพาจารย์ อันเป็นพ่อแม่ครูบาพระอาจารย์ใหญ่ในสายกรรมฐานสถิตอยู่ให้กราบระลึกบูชา

ชั้นหนึ่ง อัญเชิญรูปพ่อแม่ครูบาพระอาจารย์อยู่ในปัจจุบัน ด้วยความเคารพอย่างเรียนเพียรตายด้วย
 

           องค์พระปฐมรัตนบูรพาบูชาคุณ จัดสร้างขึ้นเมื่อมีมนุษย์ผู้มีศรัทธาความเชื่อในสิ่งที่ควรเชื่อ มีวิริยะในสิ่งที่ควรเพียร มีสติในสิ่งที่ควรระลึกได้ มีสมาธิในสิ่งที่ควรตั้งมั่น มีปัญญาในสิ่งที่ควรรอบรู้ มีทุนทรัพย์สร้างในสิ่งที่เป็นอริยทรัพย์ เป็นกองทัพธรรมกรรมฐานสมดุลกันแล้ว ย่อมเป็นช้างสารมหากำลังใหญ่ที่จะปกป้องคุ้มครองพระไตรปิฎกของพระพุทธศาสนาด้วยชีวิต ครั้งพุทธกาลท่านได้ทรงยกย่องป่าและวัดเป็นป่ามาก อุดมด้วยสัตว์ป่านานาชนิดทั้งนั้น มิหนำซ้ำเป็นที่ประสูติขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงตรัสรู้และแสดงธรรมจักรถึงปรินิพพาน ย่อมเป็นป่าเต็มภูมิ ตลอดถึงพระวินัยอนุสาสน์และพระสูตรต่างๆ แทบทุกสูตรข้องเกี่ยวกับป่าๆ ดงๆ ภูเขา เพราะเป็นที่สัปปายะ สำหรับบำเพ็ญภาวนา เป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติอันทรงพลังแห่งกองทัพธรรมกรรมฐาน อันกัมปนาทแสนยานุภาพแห่งคุณพระศรีรัตนตรัย ทรงสถิตไว้ในโลกมาจนถึงทุกวัน ปัจจุบันสถานที่นี้และป่าอื่น ๆ ดำรงอยู่งดงามด้วยฝีมือของมนุษย์อันมี ศีล สมาธิ ปัญญา ศรัทธา ความเพียรอันใหญ่ยิ่งที่จะสืบทอด ยอยก รักษา บำรุงส่งเสริมด้วยความกตัญญู รู้ถึงคุณพระมหากรุณาธิคุณต่อสัตว์โลก อันยิ่งใหญ่ไพศาลของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น เหตุฉะนั้น พวกเราชาวพุทธควรที่จะรักษาป่าประดุจรักษาชีวิต เพื่ออนุชนของเราจะได้สืบ จะได้รัก จะได้ส่งเสริมป่า เพื่อชีวิตของพวกเขาเอง ยิ่งนานวันคุณค่าแห่งความขลังยิ่งทวีอานุภาพเพิ่มมากขึ้น อิฐทุกก้อน ดินทุกกำ คือประวัติศาสตร์ และอารยธรรมแห่งคุณความดี ของความเป็นไทยอย่างเต็มภาคภูมิ ความสง่างามของพญานาคทองสัมฤทธิ ๔ ตนนี้ยังคงผงาดอยู่ประกาศศรัทธาบูชาคุณ สวนกระแสลมแห่งความเปลี่ยนแปลงที่กรรโชกรุนแรง อย่างมั่นคงตราบจิรกาล

         ศิษยานุศิษย์ขอน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมร่วมแรงศรัทธา จัดตั้งก่อสร้างเป็นคณะกรรมการและผู้มีจิตศรัทธาทุกสารทิศมาอำนวยทรัพย์ อำนวยพร จนสัมฤทธิผลเป็นวัตถุมหามงคล มหาสิริ เป็นหลักใจในความกตัญญูกตเวทีแด่พระแก้วสามประการ ขอให้ทุกท่านจงมีปัญญารักษาธรรมในใจให้สว่างโชติช่วง ขออย่าได้หนีหายตายจากศาสนาพุทธ ในชาตินี้และทุกๆ ชาติไปตราบเท่าถึงพระนิพพานด้วยเทอญ

ประวัติย่อเจ้าอาวาส พระครูจิตตภาวนาญาณ(ชาลี ถิรธัมโม )

กำเนิด ที่บ้านเจริญศิลป์ จังหวัดสกลนคร

วันเกิด  29 มิถุนายน 2488 ตรงกับวันเสาร์ ขึ้น 1 ค่ำ เดือน 8 ปีระกา

นาม    ชาลี บุตรน้อย

โยมบิดา-มารดา  นายคำ-นางกัน บุตรน้อย

พี่น้องทั้งหมด 6 คน ท่านเป็นบุตรคนที่ 4

บรรพชา ท่านพระอาจารย์ชาลี ถิรธัมโม ได้บรรพชาเมื่ออายุ 19 ปี ที่วัดศิริราษฎร์วัฒนา บ้านเจริญศิลป์ จังหวัดสกลนคร โดยพระครูอดุลสังฆกิจเป็นพระอุปัชฌาย์

อุปสมบท ท่านพระอาจารย์ชาลี ถีรธัมโม ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุเมื่ออายุ 20 ปี ที่วัดศิริราษฎร์วัฒนา โดยมีท่านพระอาจารย์คำนิ สุวรรณศิริ เป็นพระอุปัชฌาย์

ออกปฎิบัติ ได้จำพรรษาที่วัดศิริราษฎร์วัฒนา 1 พรรษา แล้วเดินธุดงค์ไปจังหวัดเลยได้จำพรรษาอยู่กับหลวงปู่ชอบ ฐานสโม ที่จังหวัดเลย 1 พรรษาและเดินธุดงค์ต่อไปทางภาคเหนือ จังหวัดหนองคาย จังหวัดอุดรธานี และอยู่กับหลวงปู่คำบูก 3 พรรษา จากนั้นธุรดงค์เรื่อยมาจนพบวัดป่าถ้ำจันทร์ อำเภอบึงกาฬ จังหวัดหนองคาย (ปัจจุบันได้รับการแต่งตั้งให้เป้นจังหวัดบึงกาฬ) และได้สร้างวัดป่าถ้ำจันทร์ จำพรรษาที่นั่น 2 พรรษา แล้วได้รับการนิมนต์มาอยู่สร้างวัดป่าภูก้อนในปลายปีพ.ศ. 2527 ในปลายปี พ.ศ. 2532 ได้สร้างวัดป่าภูก้อนแล้วเสร็จ จนได้รับพระราชทานใบวิสุงคามสีมา

สมณศักดิ์ เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2539 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็น “พระครูจิตตภาวนาญาณ”

ปัจจุบัน  เป็นเจ้าอาวาสวัดป่าภูก้อน เจ้าคณะอำเภอนายูง(ธรรมยุต) และพระอุปัชฌาย์ในเขตอำเภอนายูง

           เป็นไงบ้างค่ะสำหรับข้อมูลที่ไก่แจ้นำบอกกล่าวเล่าใหม่ให้ฟังในวันนี้ อัดแน่นไปด้วยสาระมากมาย แต่ข้อมูลยังไม่หมดเพียงเท่านี้นะ แฟนๆUDClick.com ท่านใดต้องการข้อมูลอย่างลึกซึ้งละก้อ ทางวัดเค้าก็ได้มีเว็บไซต์เป็นของตนเองให้แฟนๆได้เข้าไปหาข้อมูลได้อัธยาสัย ตามนี้เลยค่ะ เอาไว้คราวหน้าไก่แจ้จะพาแฟนๆไปเที่ยวที่ไหน ติดตามได้ที่นี้ที่เดียว UDClick.com

ขอบคุณข้อมูลจาก  วัดป่าภูก้อน

ใส่ความเห็น